top of page

ทำอะไรก็ไม่ถูกใจ รับมืออย่างไรเมื่อต้องเจอคอมเมนต์แย่ๆ?☹️

Aug 5, 2024

โอลิเวียฮเยเย้เฮท


เคยเจอคอมเมนต์แย่ๆ กันไหมครับ?☹️🥲


คอมเมนต์แย่ๆ นั้นเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นดารา ครีเอเตอร์หลักล้านซับ เนตไอดอลมาแรง หรือแม้กระทั่งคนธรรมดาๆ อย่างเราที่ผันตัวมาสร้างคอนเทนต์ และต้องยอมรับว่า หลายครั้งคอมเมนต์ที่เกิดขึ้น ก็ทำให้เราหมดกำลังใจ ท้อแท้ สงสัยในความสามารถของตัวเอง หรือบางคนเลิกทำคอนเทนต์ไปเลยก็มี


โดยเฉพาะครีเอเตอร์มือใหม่ ซึ่งอาจจะยังไม่ได้มี "ภูมิคุ้มกัน" หรือวิธีการรับมือกับคอมเมนต์อย่างถูกต้อง ทำให้เกิดความกดดันและกังวล เมื่อมีผลตอบรับประเภทต่างๆ การเรียนรู้ที่จะรับมือกับความคิดเห็นแย่ๆ นั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากจะทำให้เราประหยัดเวลาในการต้องมาไล่ตอบแล้ว ยังทำให้สุขภาพจิตของเราไม่เสื่อมถอย หรือเกิดอาการ burn out ได้ช้าลง


วันนี้ TubeMojo จึงรวบรวมประคอมเมนต์ 6 ประเภทและวิธีการรับมือ ให้ลองได้นำไปใช้กันดังนี้ครับ


1. Positive - Respond (เชิงบวก - ให้ตอบ)

คอมเมนต์แบบที่ทุกคนอยากได้ เช่น เข้ามาชมเนื้อหาหรือการถ่ายทำ "ภาพสวยมากเลย" "เป็นประโยชน์มากเลยค่ะ" เข้ามาให้กำลังใจ เข้ามาขอบคุณที่แชร์เรื่องราวดีๆ 


โดยคอมเมนต์ประเภทนี้ ขอให้เราใช้เวลาเข้าไปขอบคุณให้ครบ เพราะจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นมากขึ้นระหว่างครีเอเตอร์และผู้ติดตาม เมื่อเขารู้สึกว่าเรามองเห็นหรือได้ยินเสียงที่เขาบอก ความภักดี (Loyalty) ก็จะเพิ่มมากขึ้นจนสุดท้ายกลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ของเราไป


2. Neutral - Respond / Ignore (เป็นกลาง - ตอบหรือปล่อยผ่าน)

คอมเมนต์ที่เป็นกลางคือคอมเมนต์ที่อาจจะเป็นการแชร์ประสบการณ์ของคนดูเองใต้วีดิโอเรา เสนอข้อมูลเพิ่มเติม แท็กเพื่อนเข้ามาดู คอมเมนต์ประเภทนี้เราสามารถปล่อยไว้เฉยๆ ก่อนได้ (เพื่อให้มีเวลาไปจัดการกับคอมเมนต์ที่ซีเรียสกว่าด้านล่าง) 


ถึงแม้จะไม่ใช่คำชม แต่คอมเมนต์แบบนี้มีประโยชน์มากในการสร้างการพูดคุยกันเองระหว่างกลุ่มคนดู ซึ่งการที่คนดูพูดคุยกันในช่องคอมเมนต์มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น เนื่องจาก YouTube ก็จะถือเป็น Engagement ประเภทหนึ่ง และยิ่ง Engagement ของวีดิโอเราดีเท่าไหร่ โอกาสที่ YouTube จะแนะนำวีดิโอของเราออกก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น


เพราะฉะนั้นเมื่อเราจัดการกับคอมเมนต์ประเภทอื่นเสร็จและมีเวลาเหลือ เราสามารถกลับมาตอบกลับคอมเมนต์ประเภทนี้ก็ได้


3. Negative - Respond (เชิงลบ - แบบให้ตอบ)

คอมเมนต์เชิงลบไม่ได้เป็นคอมเมนต์ที่แย่เสมอไป หลายครั้งที่แฟนๆ เห็นข้อผิดพลาดและชี้แจงให้เราฟังเพื่อการพัฒนาต่อไปในอนาคต เป็นคอมเมนต์ที่เรียกได้ว่า​ "ติเพื่อก่อ" มีการแสดงความคิดเห็นที่มีที่มาที่ไป (ไม่ดี เพราะ…, ไม่ควรพูด เพราะ…) มีตรรกะที่ไม่ผิดเพี้ยนและอยู่บนพื้นฐานของ Constructive Feedback (ข้อคิดเห็นหรือการวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์)


คอมเมนต์เชิงลบประเภทนี้เราควรจะเข้าไปตอบเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการขอบคุณ รับทราบ แบละจะนำไปปรับปรุง ซึ่งจะให้ผลในทางเดียวกันกับเวลาเราไปตอบคอมเมนต์เชิงบวก คือ แฟนๆ ได้รู้สึกว่าถูกมองเห็น และเสียงที่เขาส่งออกมาให้เราได้ถูกรับฟัง สร้างความแน่นแฟ้น ไว้ใจ และความภักดีต่อแบรนด์ของเราในระยะยาว


4. Negative - Ignore (เชิงลบ - แบบปล่อยผ่าน)

คอมเมนต์เชิงลบในแบบที่เราควรปล่อยผ่าน ปล่อยผ่านในที่นี้คือปล่อยคอมเมนต์นั้นเอาไว้เฉยๆ ไม่ต้องไปตอบ ไม่ต้องไปกดไลก์ หรือไม่ต้องลบ คือคอนเมนต์ประเภท Troll หรือเกรียน


เราอาจจะให้คำจำกัดความของ "คอมเมนต์เกรียน" ไว้ที่ "ความเห็นเพื่อความสนุกส่วนบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในวีดิโอ แต่ไม่ได้สร้างพิษภัยให้ใคร" เช่น เม้นแรก เม้นสอง เล่นมุกตลก ไลก์ผมหน่อย มุกปั่นๆ แซวๆ แต่ไม่เกินเลยไปถึงการเหยียดหยาม หมิ่นประมาท ให้ร้าย คำหยาบคาย หรือการข่มขู่


บางครั้ง "คอมเมนต์เกรียน" อาจคาบเกี่ยวระหว่างการแซวกับการหมิ่นประมาท เช่น วิจารณ์ภาพลักษณ์ของเราโดยเอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่นหรือสิ่งอื่น กล่าวว่าเราไปบลอกเลียนแบบเนื้อหาช่องอื่นมา เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม เราสามารถ "ปล่อยผ่าน" คอมเมนต์ประเภทนี้ไปได้ด้วยการเข้าใจธรรมชาติของโลกอินเตอร์เนตที่มีคนหลากหลายประเภท และคนแต่ละประเภทก็หาความสุขจากอินเตอร์เนตในรูปแบบที่ต่างกัน รวมถึงการแสดงพฤติกรรมแบบเกรียน


ที่สำคัญคือ เราต้องไม่ไป "ตอบโต้" หรือ "ไล่ลบ" ให้ลำบาก เพราะนอกจากจะเสียเลวาแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้เข้ามาแสดงพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่าเดิม (Do not feed the troll) ให้ปล่อยไว้เงียบๆ เมื่อเขาเห็นว่าเราไม่มีการตอบโต้ ก็จะเริ่มหมดสนุกและลดลงไปเอง



5. Negative - Delete (เชิงลบ - แบบให้ลบ)


คอมเมนต์เชิงลบที่ไปเหนือการติเพื่อก่อและความเกรียน คือ การวิพากษ์วิจารณ์เสียๆ หายๆ เช่น มีการใช้คำหยาบ คำดูถูก เหยียดหยาม เข้าข่ายหมิ่นประมาท ไม่ว่าจะเป็นต่อเนื้อหาหรือรูปลักษณ์ของผู้นำเสนอ เช่น "วีดิโอเxยๆ แxงมีแต่คนโง่เท่านั้นแหละที่ดู" "หน้ายังกะส้นXน ยังกล้ามารีวิวอีก" "คXายชิบหาย" เป็นต้น


การปล่อยคอมเมนต์ประเภทนี้ไว้ นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังทำให้บรรยากาศในการสนทนาระหว่างผู้ชมอื่นๆ เสียไปด้วย แทนที่คนอื่นจะได้เข้ามาพูดคุยกันอย่างเกิดประโยชน์กลับมาเจอแต่สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา กลายเป็นศูนย์รวมของความ toxic ไปแทน จนทำให้ผู้ชมดีๆ ซึ่งเป็นผู้ชมส่วนใหญ่ของช่อง อาจจะไม่อยากกลับเข้ามามีส่วนร่วมในวีดิโอของเราอีกต่อไปก็ได้


6. Crisis (เป็นอันตราย - ให้แคพ รายงาน และลบ)


คอมเมนต์ประเภทที่อันตรายและควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ เป็นคอมเมนตืประเภทที่ มีความเสี่ยงด้านกฎหมายหรือความปลอดภัย เช่น คำพูดที่คุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หมิ่นเบื้องสูง ข่มขู่ทำร้ายร่างกาย เป็นต้น


เจ้าของช่องควรทำการแคพข้อความนั้นไว้ รายงานต่อแพลตฟอร์ม หรือรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ เมื่อรู้สึกว่าคอมเมนต์นั้นอาจนำมาซึ่งอันตรายในชีวิตจริง และหลังจากเก็บหลักฐานแล้ว ให้ลบทิ้งทันที


นอกจากคำแนะนำที่เราจะได้ยินกันบ่อยๆ เมื่อพูดถึงคอมเมนต์บนโลกออนไลน์ว่า "ให้ทำใจ" แล้ว อยากให้ลองนำวิธีคิดนี้ไปปรับใช้กับการ moderate เนื้อหาบนช่องของตนเองกันด้วยนะครับ


ขอให้ทุกท่านทำคอนเทนต์กันอย่างมีความสุขครับ

ดูในรูปแบบวีดิโอบนช่อง YouTube ของ TubeMojo ได้ทางด้านล่างนี้เลยครับ





Aug 5, 2024

1 min read

0

60

bottom of page